PIER PAOLO PASOLINI
ภาคต้น : บทเพลงของคนบาป (3)

 




หน้าก่อน | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | หน้าต่อไป

ระหว่าง Marx กับพระเจ้า

ไม่เหมือนกับภาษาวรรณกรรม ภาพยนตร์ไม่ได้พูดแสดงความจริงออกมา ไม่ได้ลอกแบบความจริงเช่นจิตรกรรม และไม่ได้แสดงความจริงออกมาเป็นท่าทางเช่นการละคร หากแต่ภาพยนตร์ทำซ้ำความจริงขึ้นมาอีกครั้ง

ตุลาคม 1960 พาโซลินี่เริ่มถ่ายหนังเรื่องแรกของเขา Accatone โดยมีเฟลลินี่เป็นผู้อำนวยการสร้าง เนื้อหาของหนังก็เหมือนกับนิยายเรื่องที่สองของเขา ที่สะท้อนความเสื่อมของมนุษย์ที่ต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางฝุ่นควันและโคลนตม เกี่ยวกับ Vittorio แมงดาหนุ่ม ผู้ที่อยากให้คนอื่นเรียกเขาว่า Accatone (แปลตรงๆว่า แมงดา) เขามีชีวิตอยู่ด้วยการเกาะแฟนสาว Maddalena แต่เมื่อเธอถูกจับ ชีวิตเขาก็เริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ สุดท้ายเขาตายจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซด์คว่ำ จากการหนีการจับกุมของตำรวจ จากคดีลักเล็กขโมยน้อย

พาโซลินี่คัดเลือกนักแสดงจากคนที่อยู่ในสภาพนั้นจริงๆ เขาไม่ได้คาดหวังการแสดงจากคนเหล่านี้ แต่ต้องการความเป็นตัวของพวกเขาเองต่างหาก

ผมมีความพึงพอใจในทางศิลปะต่อนักแสดงสมัครเล่นเหล่านี้ ในฐานะที่พวกเขาเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของความจริง เหมือนกับวิวทิวทัศน์ ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ หรือลาที่เดินอยู่ตามท้องถนน พวกเขาล้วนเป็นองค์ประกอบที่ผมจะยักย้ายถ่ายเทให้เกิดเป็นสิ่งที่ผมต้องการ

เขายังได้ลูกชายของเพื่อนนักเขียน Attilio Bertolucci ที่ชื่อ Bernado Bertolucci ซึ่งขณะนั้นอายุ 19 ปีมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับด้วย

แต่หลังจากนั้นไม่นานเฟลลินี่ก็กลับถอนตัวเมื่อได้เห็นฟิล์มชุดแรกที่การจัดภาพออกมาดูหยาบและไม่สวยงาม อย่างที่เขาคาดหวัง เขาคิดว่าสไตล์นีโอเรียลลิสต์แบบนี้มันเหมือนกับหนังเมื่อ 15 ปีก่อน (งานของเฟลลินี่เองมักจะมีการจัดภาพอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม) ขณะที่พาโซลินี่ต้องการภาพแบบเดียวกับหนังฝรั่งเศสคลาสสิคของ Carl Dreyer เรื่อง Passion of Joan of Arc (1928)

เขาต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อหาเงินทุนใหม่ และในที่สุด Accatone ก็ได้ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์ที่เวนิซปี 1961 ท่ามกลางเสียงชื่นชม ถึงแม้ปีนั้น Last Year at Marienbad จะคว้ารางวัลที่หนึ่งไป

ในรอบปฐมทัศน์ที่ Barberini มีเด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนีโอฟาสซิสต์เข้ามาก่อกวน และขว้างขวดหมึกใส่จอหนัง หลังเหตุการณ์ พาโซลินี่ได้เอ่ยประโยคที่ต่อมากลายเป็นคำพูดที่ได้รับการจดจำ “ถ้าพวกฟาสซิสต์มันคิดจะเล่นกันให้ถึงที่สุดละก็ เชิญที่บ้านผมดีกว่า

แต่บังเอิญคนที่จะเล่นเขาก่อนดันเป็นคนอื่น!! … กองเซนเซอร์เกิดบ้าจี้กับการประท้วงของกลุ่มนีโอฟาสซิสต์คราวนั้น จึงสั่งถอนหนังออกจากทุกโรงในอิตาลี

ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก!! 18 พฤศจิกายน 1961 หลังจากที่เขาจัดการกับบทหนังเรื่องที่สอง Mamma Roma เสร็จ ก็แยกกับเพื่อนออกไปตระเวณราตรีตามปกติ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน เด็กหนุ่มชื่อ Bernadino de Santis ออกมาให้การปรักปรำเขาว่าวันนั้นพาโซลินี่เดินเข้าไปในบาร์ข้างปั้มน้ำมันที่เขาทำงานอยู่ พาโซลินี่สั่งโค้กมาดื่มและก็เริ่มถามคำถาม ‘แปลกๆ’ จากนั้นก็ชักปืนพกที่บรรจุ ‘กระสุนทองคำ’ ออกมาจ่อในปากเขา “อย่าขยับ ไม่งั้นแกตาย” พาโซลินี่เปิดลิ้นชักแล้วหยิบเงินไป 20,000 ลีร์ (lire) ราวกับจอมโจร Zorro ก่อนจากไปพาโซลินี่ก็พูดขึ้นว่า “แล้วเราคงได้พบกันอีก!!

คราวนี้เพื่อนๆในแวดวงศิลปะต่างออกมาเถียงกันคอเป็นเอ็น ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะตอนนี้พาโซลินี่มีเงินมากเกินพอที่จะไม่ต้องทำเรื่องไร้สติอย่างนั้น และจริงๆแล้วเขาเป็นคนที่สุภาพและฉลาดเกินกว่าจะทำเรื่องอย่างนี้ได้ ขณะที่หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวากลับออกมาประนามว่าพาโซลินี่เป็น ‘นักเขียนเรื่องลามกที่ต้องการทำให้ประเทศตกต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองประเทศ

ฝ่ายอัยการถึงกับจ้างศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโรม ชื่อ Aldo Semerari มาตรวจสภาพจิตของพาโซลินี่ และแถลงผลวิเคราะห์ที่น่ากังขาและเต็มไปด้วยอคติออกมาว่า พาโซลินี่เป็นพวกรักร่วมเพศ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วก็คือ ‘สภาพจิตบกพร่อง’ อาชญากรรมครั้งล่าสุดของเขาจึงเป็นอาการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เขาเป็นพวกที่ชอบโชว์ก็เพราะเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคอมมิวนิสต์ก็เพราะวิกลจริต วิกลจริตก็เพราะเป็นรักร่วมเพศ และดังนั้นจึงเกิดอาชญากรรม?!!

พาโซลินี่ต้องใช้เวลาถึงหกปีกว่าจะหลุดจากข้อกล่าวหาได้ เนื่องจาก ‘มีหลักฐานไม่เพียงพอ’ เพื่อนของเขาเคยกล่าวว่า จริงๆแล้วผู้พิพากษาก็ตระหนักดีว่าคำให้การของโจทย์นั้นไร้สติสิ้นดี แต่ก็ยังรับพิจารณาคดีต่อไปด้วยเหตุผลที่พาโซลินี่เป็นรักร่วมเพศ และในอิตาลีก็ไม่มีกฏข้อไหนเอาผิดได้… หลังจากนั้นหลายปี De Santis เด็กหนุ่มที่ฟ้องเขาก็ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลบ้า?!!

 



ถ้า Accatone แสดงสภาพที่เป็นระบบปิดของชีวิตพวก borgata ที่เมื่อใดพยายามจะออกไปจากโลกสลัมของพวกเขา ก็จะต้องเผชิญกับแรงปะทะจากโลกแห่งความจริงข้างนอกจนถึงตาย Mamma Roma (1962) กลับแสดงความหวังของคนสามัญที่พยายามไขว่คว้าชีวิตที่ดีกว่า ผ่านหญิงชาวบ้านอย่าง Carmine ซึ่งแสดงโดย Anna Magnani ที่โด่งดังจากหนังต้นแบบแนวนีโอเรียลลิสต์ Rome, Open City (1945) ของ Roberto Rossellini

Carmine คือโสเภณีที่ตัดสินใจเลิกอาชีพเก่า แล้วพาลูกไปอยู่เมืองอื่น เริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นคนขายผลไม้ เพื่อชดเชยจากการที่เธอไม่ได้ดูแลลูกชายเมื่อยามเยาว์วัย แต่ Ettore ที่กำลังย่างเข้าวัยรุ่น กลับสร้างปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันแมงดาเก่าของเธอก็กลับมารังควาน แม้เนื้อเรื่องจะฟังดูน้ำเน่า แต่พาโซลินี่แสดงตวามซับซ้อนทางอารมณ์ของ Carmine และ Ettore ออกมาได้อย่างงดงาม ผ่านทิวทัศน์แปลกตา รวมไปถึงภาพสุดท้ายของหนัง ที่จะทิ้งคำถามไว้ในใจคนดู



 

ในปีเดียวกันเขาก็ทำหนังสั้นเรื่อง La ricotta ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในสี่ตอนของ RoGoPaG ที่ประกอบด้วยงานของผู้กำกับสี่คนคือ Rossellini, Godard, Pasolini และ Ugo Gregoretti

La ricotta เป็นหนังที่เกี่ยวกับการถ่ายหนังเรื่องประวัติของพระคริสต์ Orson Welles แสดงเป็นผู้กำกับ (พาโซลินี่ ‘ต้องการคนที่ดูเหมือนเฟลลินี่’ มาเล่นเป็นผู้กำกับ) ฉากที่เป็นปัญหาของหนังก็คือตอนพักเที่ยงที่อยู่ๆนักแสดงหญิงที่เล่นเป็น Magdalene ก็ลุกขึ้นมาเต้นระบำเปลื้องผ้าต่อหน้าทีมงานและนักแสดงชายที่เล่นเป็นพระคริสต์และนักโทษอื่น ที่ยังถูกตรึงกางเขนอยู่ นักแสดงชายคนหนึ่งที่เล่นเป็นขโมย ที่จะถูกลงโทษพร้อมพระเยซู เป็นคนยากจนที่ยอมมาเล่นหนังเรื่องนี้เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่กลับถูกแกล้งให้ตรึงกางเขนอยู่อย่างนั้นตลอดพักกลางวัน พวกทีมงานโยนอาหารไปให้เขากินแต่ก็พลาดตลอด พอเขางับแซนวิชได้ชิ้นนึงก็กินมันอย่างหิวโหย เมื่อเริ่มถ่ายอีกครั้ง Welles ผู้กำกับที่ไม่เคยลุกจากที่นั่งสั่งแอคชั่น ก็ปรากฏว่าชายคนนั้นตายอยู่บนกางเขนซะแล้ว นักแสดงผู้ไม่เคยเถียงหรือบ่นใดๆเลย เขาทำทุกอย่างเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว สำหรับพาโซลินี่แล้วนี่คือการเสียสละที่ยิ่งใหญ่

แต่หนังกลับถูกฟ้องในข้อหา ‘ลบหลู่ศาสนาประจำชาติ’ คราวนี้เขามีเพื่อนร่วมชะตากรรมด้วย คือหนังเรื่อง Viridiana ของ Lius Bunuel ผู้นำฝ่ายสังคมนิยมอย่าง Pietro Nenni เขียนถึงกรณีนี้ว่า
พาโซลินี่ที่รัก สิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่นี้ คือดัชนีที่ชี้ว่าเรายังอยู่ห่างไกลเพียงใดจากการตระหนักได้ถึงสิทธิของการทำงานศิลปะ

ส่วนนักวิจารณ์อย่าง Piero Citati ถึงกับถามว่า
เป็นไปไม่ได้หรือที่คุณจะเลิกทำหนังและเลิกข้องแวะกับคนพวกนี้ซะที คุณควรจะกลับไปทำงานเขียนและงานวิจารณ์เหมือนกับที่เคยทำ

คำถามนี้คือคำถามเดียวกับที่ Calvino ถามเขา ขณะที่เฟลลินี่กล่าวว่าคดีนี้เป็นเรื่องที่
ไม่อาจยอมรับได้ .. ดูเหมือนว่าจิตวิญญาณที่งดงามมักจะถูกขัดขวางโดยคนโง่เสมอ … คนพวกนั้นผลักดันให้เขาต้องแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาใน Gospel (หนังเรื่องต่อไปของพาโซลินี่) มันช่างน่าเศร้าเหลือเกินที่ไม่มีใครเข้าใจ (ความคิดของเขาได้)

ระหว่างถ่ายทำ La ricotta นี่เองที่พาโซลินี่ได้พบกับเด็กหนุ่ม ที่ต่อมาเขาคบหาด้วยจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต Giovanni Davoli หรือ Ninetto เป็นน้องชายของช่างไม้ที่มาทำงานกับหนัง ขณะนั้นเขาอายุสิบสี่ ขณะที่พาโซลินี่กำลังจะอายุครบสี่สิบในเดือนมีนาคมที่จะถึง…

ก็ถ้าเขาถูกหาว่าดูหมิ่นศาสนา งั้นหนทางแก้ทางเดียวก็คือ ทำหนังที่เดินตามคำสอนทางศาสนาที่เคร่งครัดที่สุดและงดงามที่สุดเท่าที่เคยมีมาซะเลย!!

 




หลังจากใช้เวลาอย่างยาวนานในการหาทุน พาโซลินี่ก็เริ่มถ่ายทำ Gospel According to Saint Matthew โดยไม่ใช้บทพูดอื่นเลยนอกจากที่อยู่ในคัมภีร์เล่มนั้น นักแสดงเกือบทั้งหมดในเรื่องล้วนอยู่ในแวดวงวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือกวี เขายังให้แม่ตัวเองเล่นเป็น Mary มารดาของพระคริสต์ ส่วนบทพระคริสต์ที่พาโซลินี่อธิบายว่าคือ “ปัญญาชนในโลกที่ยังมีคนยากจนที่รอคอยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” นั้น หลังจากที่เขาควานหามาตั้งแต่อิสราเอลจนถึงมิลาน กระทั่งเคยคิดจะให้นักเขียนอเมริกัน Jack Kerouac เล่น สุดท้ายเขากลับได้พบ ‘แรงบันดาลใจในฉับพลัน’ กับนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ชาวสเปนที่ไปรอพบเขา เพราะชอบนิยายเล่มแรกของพาโซลินี่ที่แปลเป็นภาษาสเปน

ผมไม่เชื่อว่าพระคริสต์คือลูกหลานของพระผู้เป็นเจ้า เพราะผมไม่ศรัทธาในพระองค์ - อย่างน้อยก็ในยามที่มีสติอยู่ … แต่ผมเชื่อว่ามีความสำนึกในมนุษยธรรมอันยิ่งใหญ่อยู่ในตัวของเขา มั่นคงและเป็นอุดมคติเหนือมนุษยธรรมสามัญทั้งปวง

Gospel ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลหนังที่เวนิซ ปี 1964 หลังผ่านการตรวจเซนเซอร์ ที่หนึ่งในคณะกรรมการเซนเซอร์ถึงกับเอ่ยปากชมว่าเป็น “งานที่ควรค่าแก่การสรรเสริญ ทั้งจากความสง่างามทางศิลปะและแรงบันดาลใจอันสูงส่งGospel คว้ารางวัล Special Jury Prize ขณะที่รางวัลสิงโตทองคำเป็นของ Antonioni จาก Red Desert

หลังจากงานยุคแรกที่เป็นภาพยนตร์ที่มุ่งเสนอความจริงแบบ Neorealism, Gospel เป็นงานชิ้นที่พาโซลินี่ก้าวเข้าสู่ยุคที่สอง คือภาพยนตร์เชิงกวีนิพนธ์ (Poetic Cinema)

Alfredo Bini ผู้อำนวยการสร้างของหนัง นำ Gospel เข้าไปจัดฉายในกรุงวาติกัน และกลับมาพร้อมรางวัลสูงสุดจากสำนักงานภาพยนตร์คาธอลิคนานาชาติ (OCIC) นั่นทำให้ฝ่ายการเมืองแทบทุกฝ่ายเนื้อเต้นไปตามๆกัน หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็น “การเทศนาของลัทธิคอมมิวนิสต์ผ่านคำพูดของ Matthew” ส่วนนักวิจารณ์ต่างก็ไม่แน่ใจว่าจะเรียก Gospel ว่าเป็นหนังมาร์กซิสต์หรือหนังคาธอลิคดี หนังสือพิมพ์บางเล่มถึงกับอุทานว่าพาโซลินี่ “ช่างเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจคาดเดาอะไรได้เช่นนี้” และบางเล่มก็กล่าวว่ารางวัลของ OCIC นั้นทั้ง ‘กำกวม’ และ ‘น่าขัน’

18 ตุลาคม กลุ่มนีโอฟาสซิสต์ตอบโต้พาโซลินี่ โดยการลงบทความเต็มหน้าชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ของตัวเองในชื่อ ‘พาโซลินี่คือใคร?’ ในเนื้อความเป็นประวัติอาชญากรรมทั้งหกครั้งของพาโซลินี่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน!!

 


 
 
หน้าก่อน
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | หน้าต่อไป