PIER PAOLO PASOLINI
ภาคต้น : บทเพลงของคนบาป (4)

 





หน้าก่อน | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | หน้าต่อไป

Cinema of Poetry

ปี 1965 เขาทำ Uccellacci e uccellini (Hawks and sparrows) ที่มีลักษณะเหมือนนิทานพื้นบ้าน เกี่ยวกับสองพ่อลูกที่รับบทโดย Toto นักแสดงตลกชื่อดังในอดีต กับ Ninetto ที่ออกเดินทาง และได้พบกับอีกาพูดได้ ผู้ซึ่ง 'มาจากดินแดนแห่งอุดมคติ' มีบิดาเป็น 'ความสงสัย' และมี 'สติ' เป็นมารดา ทั้งสามได้สนทนาโต้ตอบกันไปตลอดทาง โดยสองพ่อลูก เป็นตัวแทนของ borgata ขณะที่อีกาเป็นเหมือนปัญญาชนฝ่ายซ้าย ระหว่างทางเจ้าอีกาปีกซ้ายก็ได้เล่าเรื่องหนึ่งในยุคกลางให้ฟัง เกี่ยวกับพี่น้องคู่หนึ่ง (แสดงโดย Toto และ Ninetto) ได้รับมอบหมายจากเซนท์ฟรานซิสให้ไปสอนศาสนาแก่ เหยี่ยวผู้จองหองและนกกระจอกต่ำต้อย หลังจากใช้เวลาหลายเดือนจนสามารถพูดภาษานกได้แล้ว!! ทั้งสองก็พบว่า เหยี่ยวก็ยังกินนกกระจอกอยู่ดี ...กลับมายุดปัจจุบัน ทั้งสามได้ไปพบงานศพของผู้นำพรรค PCI, Palmiro Togliatti (หนังใช้ภาพสารคดีประกอบ) ในตอนท้าย หลังจากเหนื่อยหน่ายกับคำพร่ำบ่นไม่หยุดปากของอีกา สองพ่อลูกก็จัดการฆ่าเอามากินซะเลย



 

Edipo re (Oedipus Rex, 1967) จากบทละครโศกนาฏกรรมของกรีก เกี่ยวกับกษัตริย์อีดิปุส ซึ่งต่อมา Sigmund Freud ใช้อ้างอิงถึงปมจิตวิทยาที่เด็กชายจะเกลียดพ่อและรักแม่

พาโซลินี่เปิดเรื่องในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์มุสโสลินี ครอบครัวหนึ่งมีลูกชายกำลังแบเบาะ โดยพ่อซึ่งเป็นทหารนั้นเกิดอิจฉาในตัวลูกชาย ที่ได้รับความรักจากแม่... ทันใดนั้น เรื่องก็ตัดเข้าสู่ยุคโบราณ เมื่อเด็กชายคนหนึ่งถูก 'หิ้ว' ไปทิ้งไว้กลางทะเลทราย เขาได้รับการช่วยเหลือจากชายที่ผ่านมา และนำไปให้กษัตริย์และราชินีเมือง Corinth และได้รับชื่อใหม่ว่า อีดิโป ต่อมาเมื่อโตขึ้น (Franco Citti พระเอกจาก Accatone) เขาเกิดฝันร้ายจึงเดินทางไปให้นักบวชทำนายฝัน เขาได้รับคำทำนายว่า เขามีชะตาจะต้องฆ่าพ่อและได้แต่งงานกับแม่ อีดิโปจึงตัดสินใจออกเดินทางโดยไร้จุดหมาย ไม่กลับไปยังเมืองของพ่อแม่(บุญธรรม) ระหว่างทางเขาเกิดฆ่าชายแก่ผู้สูงศักดิ์คนหนึ่งตาย และปราบปีศาจ จนได้อภิเษกกับราชินี...

พาโซลินี่กล่าวว่า Edipo re เป็นเหมือนการวิเคราะห์ ปมอีดิปุส ของตัวเขาเอง "เด็กชายในตอนต้นเรื่องคือตัวผมเอง พ่อของเขาที่เป็นทหารก็คือพ่อของผม รวมถึงแม่ด้วย"

ด้วยพลังทางด้านภาพที่ทั้งงดงามและโหดร้าย พร้อมทั้งการเชื่อมโยงตำนานเข้ากับจิตวิเคราะห์ และการตีความใหม่ Edipo Re ถือเป็นหนึ่งในจุดสูงสุดของพาโซลินี่ในยุคนี้เคียงคู่กับ Teorema ซึ่งเป็นงานชิ้นถัดไป และยังเป็นต้นแบบ ให้กับงานที่ตามมาอีกหลายชิ้น รวมถึง Satyricon (1969) ของเฟลลินี่

ต้นปี 1968 นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยก่อเหตุยึดคณะของตัวเองไว้ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา ให้นักศึกษามีสิทธิ์ในการตัดสินใจนโยบายของมหาวิทยาลัย ตำรวจนำกำลังเข้าปราบปรามมีคนบาดเจ็บมากมาย ทำให้เกิดการจลาจลของนักศึกษาขึ้นอีกในหลายเมือง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมๆกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในอีกหลายประเทศทั่วยุโรปและอเมริกา

แทนที่จะสนับสนุน พาโซลินี่เรียกเด็กพวกนี้ว่า ‘เด็กที่ถูกตามใจจนเสียคน’ เป็นชนชั้นกระฎุมพีใหม่ที่ไม่เข้าใจคนยากจน เรียกตัวเองว่ามาร์กซิสต์ แต่ความจริงแล้ว ‘การปฏิวัติผิดๆ’ นี้แท้จริงเป็นการต่อสู้ภายในชนชั้นของเหล่ากระฎุมพีเองต่างหาก ฝ่ายนักศึกษาก็ตอบโต้เขาว่า นี่แสดงให้เห็นว่าจริงๆแล้วพาโซลินี่ไม่เคยเข้าใจประวัติศาสตร์ การต่อสู้ของชนชั้นและการปฏิวัติเลย … หลังเหตุการณ์นี้ พาโซลินี่กล่าวว่าเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนพ่อที่ถูกลูกปฏิเสธและเขาเองก็ปฏิเสธเด็กพวกนั้นด้วย ขณะเดียวกันเขาก็คือพ่อที่เคยปฏิเสธคนรุ่นพ่อของตัวเองมาแล้วเช่นกัน

กลางปี 1968 โซเวียตยกทัพบุกเชคโกสโลวาเกีย ยุติปรากฏการณ์ ‘ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงปราก’ (Prague Spring) เมื่อต้นปี ที่พรรคคอมมิวนิสต์เชคปฏิรูปนโยบายให้เปิดกว้างมากขึ้น ผ่อนปรนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์และภาพยนต์ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ในอีกหลายประเทศมีความหวังที่จะปลดแอกตัวเองออกจากโซเวียต แต่แล้วทุกอย่างก็สูญสลาย

 


ในช่วงเวลาเดียวกันพาโซลินี่เริ่มถ่ายทำ Teorema หนังเรื่องแรกของเขาที่เกี่ยวกับครอบครัวชนชั้นกระฎุมพีที่ร่ำรวย ที่วันหนึ่งได้รับจดหมายจากผู้ส่งสาร (messenger รับบทโดย Ninetto) ว่าจะมีแขกมาเยือน โดยไม่บอกเหตุผลใดๆผู้มาเยือนหนุ่มคนนั้น (Terence Stamp) ก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกชีวิตในครอบครัวนี้ มีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนใช้ ลูกสาว แม่ กระทั่งลูกชายและพ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เขาเป็นเหมือนกับความปรารถนาที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ แล้วอยู่ๆก็จากไป ทิ้งให้คนเหล่านั้นรู้สึกเลื่อนลอยว่างเปล่า จนต้องออกตามหาบางอย่างมาเติมเต็ม พาโซลินี่กล่าวว่าในตอนแรกเขาต้องการให้ผู้มาเยือนนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้า แต่ต่อมาเขาคิดว่าบางทีมันอาจจะเป็นปีศาจก็ได้ หรือไม่ก็เป็นส่วนผสมของทั้งสองอย่าง



 

ปี 1969 เขาเริ่มถ่าย Porcile (Pigsty) ที่เป็นเหมือนต้นแบบของ Salo หนังมีองค์ประกอบที่ทำให้ยากต่อการรับชม ตั้งแต่เรื่องมนุษย์กินคนจนถึงการร่วมเพศกับสัตว์ เขากล่าวว่านี่เป็นหนังรูปแบบใหม่ของเขาที่ยากแก่การเข้าถึง ลึกลับและซับซ้อน…‘ไม่สามารถบริโภคได้’ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ “ไม่อาจย่อยได้ : ผู้บริโภคที่หยิบมันเข้าปากไปก็จะคายมันออกมา หรือไม่ก็ต้องนอนปวดท้องไปตลอดคืน” พาโซลินี่ตั้งใจให้ความหมายตรงข้ามกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมในอุตสาหกรรมบันเทิง

ในยุคกลาง ชายคนหนึ่ง (Pierre Clementi) รอนแรมกลางดินแดนกันดาร ต้องเอาชีวิตรอดด้วยการฆ่าและกินเนื้อมนุษย์ ระหว่างนั้นเขาพบกลุ่มนักบวชคริสเตียน ที่สมัยนั้นยังมีการบูชายัญมนุษย์ ...ในยุคหลังสงครามโลก ชายหนุ่มเยอรมันคนหนึ่ง (Jean-Pierre Leaud) มีความผูกพันเป็นพิเศษกับหมู ขณะที่พ่อของเขาร่วมธุรกิจกับ อดีตนาซี จนร่ำรวยมั่งคั่ง ใครคือคนที่ควรถูกประนามมากกว่ากัน?



 

ปี 1970 เขาได้ Maria Callas นักร้องเสียงโซปราโนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษมาแสดงนำใน Medea ที่ทำจากโศกนาฏกรรมกรีก ระหว่างการถ่ายทำ นักแสดงหญิงที่เคยเดินออกจากโรงตอนดู Teorema กับผู้กำกับที่เกลียดโอเปร่า กลับสนิทชิดเชื้อกันและผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง กลายเป็นหัวข้อใหม่ที่นักข่าวสนใจ เมื่อออกฉาย Medea ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

Medea คือนักบวชหญิงผู้ดูแลขนแกะทองคำ ที่ซึ่งเจสันต้องมาขโมยไปให้ลุงของเขาเพื่อแลกกับ ตำแหน่งกษัตริย์แห่ง Corinth (ที่ลุงของเขาแย่งไปจากเจสันเมื่อยังเล็ก) Medea หลงรักเจสันและช่วยกันขโมยขนแกะทองคำไป แต่ปรากฏว่าอิทธิฤทธิ์ของขนแกะกลับหมดไปเมื่อออกไปนอกเมือง ลุงจึงไม่ยอมทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ต่อมาเจสันหมดความสนใจในตัว Medea และพบรักใหม่กับลูกสาวของลุง...

Medea แสดงภาพสังคมโบราณที่อุดมไปด้วยพลังเหนือธรรมชาติ ที่กำลังถูกกัดกร่อนทำลาย โดยสังคมสมัยใหม่ ที่รุกคืบเข้ามา เหมือนที่อิตาลีปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่กับทุนนิยม

ผมเป็นพวกไม่มีศาสนา แต่ผมมีความสัมพันธ์กับวัตถุต่างๆอย่างเต็มไปด้วยความลึกลับและศักดิ์สิทธิ์ สำหรับผมแล้ว ไม่มีอะไรเป็นธรรมชาติจริงๆ ไม่กระทั่งธรรมชาติเอง” ใน Medea เขาใช้ภาพวัตถุและธรรมชาติมากมายเพื่อแสดงพลังทางกวีนิพนธ์ เขาเชื่อว่างานของเขาคือสะพานที่ทอดจากวัตถุดิบต่างๆไปสู่ความจริงที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา

ถึงตอนนี้เขาได้ก้าวมาอยู่ในจุดที่ตกผลึกแล้วทางความคิด อิ่มตัวแล้วทางอุดมการณ์ พาโซลินี่พร้อมแล้วที่จะก้าวไปสู่ประตูที่ยังไม่มีใครกล้าเปิด ด้วยภาพยนตร์สี่ชิ้นสุดท้ายของเขา จาก The Decameron ถึง Salò Or 120 Days of Sodom ก่อนจะปิดฉากด้วยความตายที่แสนจะอื้อฉาว…

 

 

 
 
หน้าก่อน
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | หน้าต่อไป