PIER PAOLO PASOLINI
ภาคปลาย : สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน (2)

 





หน้าก่อน | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | หน้าต่อไป

นอกอาณาจักรของพระเจ้า

Donatien Alphonse Francois de Sade (1740-1814) เกิดในตระกูลขุนนางฝรั่งเศสที่เคยมีอิทธิพลทางการเมืองมาหลายยุคสมัย แต่พ่อของเขาคือ Jean Baptiste Comte (Count) de Sade กลับเป็นคนเสเพลไม่เอาการเอางาน ทั้งมีพฤติกรรมแบบรักสองเพศ ในยุคที่พวกขุนนางและราชวงศ์ที่มักมากในกามมักจัดกิจกรรมพิเศษหลังอาหารค่ำ อย่างการร่วมเพศหมู่ และ Comte de Sade ก็มักเป็นสมาชิกอยู่เรื่อย ต่อเมื่อสถานะทางการเงินและการเมืองเริ่มร่อยหรอ เขาจึงแต่งงานกับนางสนองพระโอษฏ์ในเจ้าหญิงแห่ง Conde ลูกของเขาจึงได้รับการเลี้ยงดูมาพร้อมกับเจ้าชายน้อยแห่ง Conde ซึ่งอายุมากกว่าเขาสี่ปี เด็กทั้งสองมักทะเลาะกันเสมอ เมื่ออายุสี่ขวบ Donatien จึงถูกส่งไปอยู่กับย่า และปีต่อมาก็ไปอยู่กับลุง ด้วยความต้องการของพ่อ เขาถูกส่งไปอยู่ในกองทัพเมื่ออายุได้ 15 ปี เป็นหัวหน้ากองร้อยออกรบใน ‘สงครามเจ็ดปี’ อย่างกล้าหาญ เมื่อบวกกับชาติตระกูลและเสน่ห์ในการเข้าสังคม เขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น Marquis ไปประจำอยู่ในเยอรมัน เขามีความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนนึงที่นั่น แต่ในปี 1963 เขาก็ถูกพ่อเรียกตัวกลับปารีสเพื่อแต่งงานกับผู้หญิงที่เขาเพิ่งเห็นหน้าได้แค่สองวันก่อนวันแต่งงาน Renée-Pélagie de Montreuil เป็นบุตรสาวของ Mme de Montreuil หญิงผู้ร่ำรวยที่ต้องการให้ลูกสาวใช้นามสกุลขุนนางอย่าง de Sade แต่ต่อมาเธอก็พบว่าเธอคิดผิดมหันต์

หลังแต่งงาน Sade ก็ไปมีความสัมพันธ์กับโสเภณีมากหน้าหลายตา เขาต้องคดีพูดจาล่อลวงผู้หญิงคนหนึ่ง และต่อมาก็ถูกโสเภณีอีกคนฟ้องว่าเขาเฆี่ยนเธอขณะมีเพศสัมพันธ์ เขามีลูกสามคนกับภรรยา และต่อมาก็มีความสัมพันธ์กับน้องสาวของภรรยาด้วย วันที่ 27 กรกฎาคม 1772 เขาจัดงานร่วมเพศหมู่ขึ้นโดยสั่งยาบำรุงทางเพศอย่างแมลงวันสเปนมามากมาย เขาชวนผู้หญิงคนหนึ่งมาร่วมด้วยแต่เธอปฏิเสธ เธอกินแมลงวันสเปนเข้าไปจำนวนหนึ่ง และต่อมาจึงอาเจียนจนต้องส่งถึงมือหมอ เธอและโสเภณีอีกสี่คนที่ถูกทรมานในงานจึงฟ้องเขาและพวก ถึงตอนนี้ชื่อของ Sade ก็อื้อฉาวไปทั่วฝรั่งเศสแล้ว ด้วยความเอือมระอา Mme de Montreuil แม่ยายของเขาจึงมีหนังสือถึงตำรวจให้นำตัวเขาไปคุมขังไว้ แต่พอปีถัดมาเขาก็หนีออกจากคุก

ปี 1774 Sade กลับมาที่ปราสาท La Coste ที่เป็นมรดกของเขา ที่นั่นภรรยาของเขาที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมเช่นนี้ของสามีได้ ได้จัดหาเด็กสาวหกคน และคนรับใช้หนุ่มอีกคนหนึ่ง มาให้ Sade สร้างเป็นห้องทดลองกามกิจพิสดารต่างๆขึ้น พอปีถัดมาแม่ยายของเขาก็สั่งให้ตำรวจมาจับเขาอีก เขาหนีไปอิตาลี

ปลายปี 1976 Sade ก็กลับมาทำเช่นเดิมที่ La Coste อีกครั้ง คราวนี้ Mme de Montreuil ทนไม่ไหวอีกแล้ว Sade ถูกจับไปขังที่ปราสาท Vincennes เขาถูกขังอยู่ที่นั่นเจ็ดปี ก่อนจะถูกย้ายไปที่ Bastille ที่นี่เขาเริ่มงานเขียนชิ้นสำคัญๆของเขา …กลางปี 1789 ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส คุก Bastille ถูกฝูงชนบุกทำลาย เขาจึงถูกส่งไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้า ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว และถูกภรรยาขอหย่า

21 มกราคม 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารด้วยกิโยติน และต่อด้วยพระนาง มารี อังตัวเนต ในวันที่ 16 ตุลาคม 10 พฤศจิกายน 1799 นโปเลียน โบนาปาร์ท ขึ้นครองราชย์

ระหว่างนั้นเขาเริ่มพิมพ์งานเขียนออกจำหน่าย เช่น Justine (1791), Philosophy in the Boudoir (1795), Juliette (1798) และมีความสัมพันธ์กับหญิงม่ายอายุ 33 ซึ่งเป็นผู้หญิงคนสุดท้ายในชีวิต …ปี 1801 Sade ถูกจับข้อหาพิมพ์หนังสือลามกอนาจาร …ปี 1803 เขาถูกส่งเข้าโรงพยาบาลบ้า ด้วยเงินจากภรรยาเก่าที่ต้องการให้เขาถูกขังอยู่อย่างนั้น …2 ธันวาคม 1814 เขาตายเมื่ออายุ 74 ปี

 







120 Days of Sodom เป็นงานชิ้นสำคัญของ Sade ที่เขาใช้เวลา 37 วันเขียนขึ้นในปี 1785 ระหว่างที่อยู่ในคุก Bastile แต่เมื่อคุกถูกทำลายงานชิ้นนี้ก็หายสาปสูญไป ต่อมาจึงถูกค้นพบและพิมพ์ครั้งแรกในปี 1935 เช่นเดียวกับงานเขียนอื่นๆของ Sade ที่มักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศแบบวิปริตต่างๆนานาของตัวละคร งานทุกชิ้นของเขาเป็นเหมือนการแสดงการต่อต้านการถูกจำกัดอิสรภาพ โดยเฉพาะทางเพศ ทั้งจากสังคมหน้าไหว้หลังหลอกในยุคนั้น และเจ้าหน้าที่ทางการกับคุกในตอนท้ายของชีวิต Sade เชื่อว่ามนุษย์ไม่ควรถูกจำกัดด้วยกฏเกณฑ์ ศาสนาหรือพระเจ้าและสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘วิปริต’ นั้น จริงๆแล้วก็มีอยู่ในส่วนลึกของมนุษย์ทุกคน ทั้งความปรารถนาทางเพศ ความรุนแรงและความเจ็บปวด …ต่อมาชีวิตและงานเขียนของเขากลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ Freud ใช้ศึกษาวิเคราะห์ทางจิตวิทยา Sade อาจเป็นได้ทั้งอัจฉริยะที่ไม่มีใครเข้าใจหรือคนบ้าที่วิปริตผิดมนุษย์

120 Days of Sodom เริ่มขึ้นเมื่อชายวัยกลางคนสี่คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมทางเพศขึ้นในปราสาทห่างไกลแห่งหนึ่ง พวกเขาออกไปลักพาตัวเด็กชายแปดคนและเด็กหญิงแปดคนมาร่วมกับชายหนุ่มและหญิงสาวอีกกลุ่มหนึ่ง พวกเขาได้ทดลองวิธีการหาความสุขทางเพศต่างๆกับเด็กเหล่านี้เป็นเวลา 120 วัน ก่อนจะจบด้วยความรุนแรงและความตาย

ปี 1974 พาโซลินี่เลือกที่จะนำ 120 Days of Sodom มาทำเป็นภาพยนต์ แทนที่จะเป็นเรื่อง Saint Paul ที่เขาเขียนบทไว้แล้ว “บางทีนี่ (120 Days of Sodom) อาจจะเป็นเรื่องที่มีความหมายต่อโลกปัจจุบันนี้มากกว่า” เขาย้ายสถานที่จากปราสาทในสวิส มาเป็นที่เมือง Salò ในปี 1944 ที่พำนักสุดท้ายของมุสโสลินีภายหลังจากที่นาซีช่วยเขาออกมาจากคุกและสถาปนารัฐ Salò ขึ้นที่นี่ให้เขาปกครองในฐานะหุ่นเชิด มันมีชีวิตอยู่ได้เพียงสิบแปดเดือน แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดการนองเลือดมากมายขึ้นที่นี่ 72,000 คนถูกฆ่า 40,000 คนบาดเจ็บ และอีก 40,000 คนถูกส่งไปอยู่ในค่ายเชลยของเยอรมัน อีกเมืองหนึ่งที่พาโซลินี่เลือกใช้คือ Marzabotta ที่ถูกทหารนาซีบุกสังหารหมู่ทั้งเมือง ทั้งสองครั้งนั้นเป็นความทรงจำที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของคนอิตาลี …ถ้า Sade ต่อต้านระเบียบของสังคมและพระเจ้า พาโซลินี่ก็ทำหนังเรื่องนี้เพื่อต่อต้านเผด็จการฟาสซิสต์ อำนาจนิยมและความเสื่อมถอยของความเป็นมนุษย์

พาโซลินี่ได้แรงบันดาลใจในการดัดแปลง 120 Days of Sodom จากตอนหนึ่งในหนังสือ The Divine Comedy (1307) ของ Dante Agligheri ที่ชื่อ L’inferno เรื่องราวเริ่มขึ้นในวันศุกร์ใหญ่ (คือวันที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์) ของปี 1300 กวีดันเต้ได้หลงทางอยู่ในป่าอันมืดมิด (หมายถึงความผิดบาป) หาทางออกไม่ได้ ทั้งยังเผชิญกับสัตว์ร้ายสามชนิดคือ เสือดาว สิงโตและสุนัขป่า (หมายถึงตัณหา ความหยิ่งลำพองและความโลภ) ในขณะที่ดันเต้กำลังจะสิ้นหวัง กวีเอกโรมันนามเวอร์จิล (Virgil) ก็ปรากฏกายขึ้นเพื่อช่วยนำทางดันเต้ออกไปจากป่า โดยต้องเดินทางไปตามเส้นทางที่ยากลำบาก ผ่านนรก ดินแดนชำระบาปและสวรรค์

เวอร์จิลอธิบายแก่ดันเต้ว่า นรกคือแดนของ ‘ผู้ระทมทุกข์ซึ่งสูญประโยชน์อันเกิดจากปัญญา’ เป็นผู้ซึ่ง ‘เหตุผลเป็นรองความทะยานอยาก’ และ ‘เอาความปรารถนาตราขึ้นเป็นกฏ เพื่อว่าความประพฤติจะไม่เป็นข้อติฉิน’ อาณาจักรแห่งโทษทัณฑ์นี้สะท้อนความสับสนและสิ้นหวัง แสดงความตกต่ำอย่างที่สุดของดวงวิญญาณมนุษย์ที่ต้องทนทุกข์อยู่ชั่วนิรันดร์ (The Divine Comedy มีเนื้อหาและความสำคัญเช่นเดียวกับไตรภูมิพระร่วงของไทยที่แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1888 หรือ ค.ศ. 1345 โดยพญาลิไท)

พาโซลินี่แบ่ง Salò ออกเป็นสี่ตอน คือ Antechamber of Hell, Circle of Madness, Circle of Shit และ Circle of Blood ลดเวลาจาก 120 วันเหลือ 3 วัน และน่าแปลกใจที่เขาใช้เวลาถ่ายทำ 37 วันเท่ากับเวลาที่ Sade ใช้เขียนพอดี

ปี 1944 ท่ามกลางการพังทลายของระบบฟาสซิสต์และสุญญากาศทางการเมือง นายธนาคาร ดยุค บิชอบและผู้พิพากษา ลงนามในสัญญาร่วมกันฉบับหนึ่ง พวกเขาส่งเด็กหนุ่มในเครื่องแบบทหารฟาสซิสต์ออกไปจับเด็กหนุ่มสาวมารวมกัน ให้ทั้งสี่คนตรวจเลือกตามคุณภาพสินค้า แล้วพาเด็กเหล่านั้นไปยังคฤหาสน์แห่งหนึ่งใกล้กับเมือง Marzabotta ร่วมกับหญิงวัยกลางคนอีกสี่คน หลังจากนี้เป็นต้นไป เรื่องจะเกิดอยู่แต่ภายในคฤหาสน์ที่ตกแต่งอย่างหรูหรา แต่ปิดตายและไร้ทางออกแห่งนี้

ใน Circle of Madness วันแรกเริ่มขึ้นโดยมีหนึ่งในหญิงวัยกลางคนนั้นออกมาเล่าเรื่องชีวิตทางเพศของตัวเอง ส่วนเด็กหนุ่มสาวเหล่านั้นก็ถูกบังคับให้ทำเรื่องน่าอับอายต่างๆ จนกระทั่งต้องถอดเสื้อผ้าที่เป็นสัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์และอัตลักษณ์ของบุคคลออกเหลือแต่ร่างเปล่าเปลือย ถูกล่ามโซ่คลานสี่ขาและกินอาหารเหมือนสุนัข ก่อนที่จะต้องกินแม้อุจจาระใน Circle of Shit ถูกปฏิบัติราวกับสัตว์หรือสิ่งของ พิธีกรรมการแต่งงานในโบสถ์ก็ถูกนำมาลบหลู่ ความแตกต่างทางเพศถูกทำลาย พอถึง Circle of Blood เด็กเหล่านี้ก็กลับทรยศกันเองเพื่อความอยู่รอด ความรักบริสุทธิ์ระหว่างชายหนุ่มกับหญิงคนรับใช้ผิวดำถูกทำลาย ทั้งที่นี่เป็นคู่เดียวในหนังที่มีพฤติกรรมรักต่างเพศแบบปกติสามัญ …ถึงตอนนี้มนุษย์ก็เหลือสิ่งเดียวให้ทำลาย นั่นคือ ชีวิต!!

 

เด็กที่ถูกเลือกถูกส่งไปร่วมพิธีกรรมสุดท้ายที่ Salò …หลังจากที่เราได้เห็นเด็กพวกนั้นถูกบังคับโดยพวกฟาสซิสต์มามากแล้ว คราวนี้เราคนดูถึงคราวจะต้องถูกผู้กำกับบังคับให้ต้องมารับรู้การทรมานและการฆาตกรรมที่โหดร้าย ผ่านสายตาเดียวกับของฆาตกรผู้ชื่นชอบความรุนแรง ท่ามกลางความเงียบ หลายภาพที่ปรากฏแก่สายตา โหดร้ายเกินกว่าจะทนดูได้ ราวกับว่านี่คือนรกที่ดันเต้ได้ไปพบเห็นมา!!

จากฟาสซิสต์กลายเป็นซาดิสต์ ในทั้งสองโลกนั้นมนุษย์ล้วนถูกกระทำราวกับเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง พาโซลินี่เลือกที่จะละเลยรายละเอียดของเหยื่อผู้บริสุทธิ์เหล่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเห็นใจจากคนดู ไม่ให้เอาใจช่วยเหยื่อเคราะห์ร้าย เขาต้องการให้ทุกอย่างในหนังที่ล้วน “ถูกคำนวณมาแล้ว” เป็นเพียงสัญลักษณ์ (metaphor) เท่านั้น ตัวละครไม่จำเป็นต้องมีชีวิต มีแค่ลักษณะก็พอ

ตรงข้ามกับในไตรภาคแห่งชีวิต กามกิจใน Salò ไม่เคยแสดงออกอย่างรื่นรมย์เลย มันทั้งทารุณและเอาเปรียบ ความสัมพันธ์ทางเพศก็ถูกใช้เป็นตัวแทนของอำนาจและการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ความรักระหว่างชนชั้นจึงต้องถูกทำลาย…หลังจากที่ถูกจับได้ว่ามีความสัมพันธ์กับหญิงคนรับใช้ Ezio ในร่างเปล่าเปลือยก็ยืนขึ้นกำหมัดชูขึ้นฟ้าอย่างท้าทาย นี่เป็นการต่อต้านเพียงครั้งเดียวในหนัง เป็น “ชั่วขณะของการตระหนักได้ทางการเมือง ที่ทำให้เกิดแสงสว่างที่ไม่คาดฝันกระจายไปทั่วทั้งหนัง” แต่ก็เป็นเพียงความหวังเล็กๆที่ถูกทำลายลงทันที

ขณะที่ Sade แสดงออกอย่างกระตือรือร้นต่อเพศรสในหนังสือ พาโซลินี่กลับแสดงออกอย่างสิ้นหวังและมองโลกในแง่ร้าย ในพิธีกรรมตอนท้าย เราได้เห็นนักแสดงที่เคยเล่นเป็นพระเอก Nur-ed-Din ใน The Thousand and One Nights ถูกทรมานราวกับกำลังถูกลงโทษในนรก หรือว่านี่คือโทษที่ผู้บริสุทธิ์ควรได้รับ … Salò จึงเป็นงานที่ต่อต้านความคิดที่ว่าชีวิตเป็นสิ่งรื่นรมย์และงดงาม มันประจานว่าจริงๆแล้วชีวิตเป็นเรื่องที่โหดร้ายและน่าขยะแขยง มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ไร้วิญญาณ มีแต่กายเนื้อที่ถูกเจ้าของนำมาหาความสุขต่างๆจากมัน ทั้งความสุขทางเพศ ความเจ็บปวดและการย่ำยีผู้อื่น

สังคมที่ปิดกั้นและกดดัน ต้องการทหาร รวมทั้งนักบุญและศิลปิน แต่สังคมเสรีต้องการผู้บริโภค!!

การกินอุจจาระคือการมองสังคมบริโภคอย่างสุดโต่ง อุจจาระคือผลผลิตจากมนุษย์ผู้หนึ่งที่จะถูกบริโภคโดยคนอื่นต่อๆไป วนเวียนเป็นวัฏจักร Sade ใช้มันแสดงถึงอำนาจในการบังคับให้เหยื่อกิน สิ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็นสิ่งปฏิกูลที่ควรถ่ายทิ้งไป แต่พาโซลินี่ใช้มันแสดงถึงความตะกละตะกรามของการบริโภค โดยไม่รู้จักยั้งคิดในสังคมที่เงินเป็นพระเจ้า

Italo Calvino กล่าวในเวลาต่อมาว่า “เงินที่ครั้งหนึ่งคือปัจจัยที่เขา(พาโซลินี่)ใช้ในการแสดงออกทางศิลปะ เช่นเงินทุนในการสร้างภาพยนตร์ ; เงินที่ครั้งหนึ่งเคยช่วยให้เขาสร้างความสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มยากจน ตามสถานเริงรมย์ในยามที่เขาจนพอๆกับคนเหล่านั้น บัดนี้(เงิน)ได้เปลี่ยนไปแล้ว – มันหวังผล ตะกละตะกราม และนำไปสู่ความรุนแรงและการปล้นสะดม”

เงินทำให้มนุษย์กลายเป็นเพียงร่างไร้วิญญาณ ทุกคนมีชีวิตและเคลื่อนไหวอยู่ได้ก็เพราะอำนาจของมัน ในสังคมบริโภคนิยมเราปฏิบัติกับคนอื่นตามสถานะ โดยไม่ต้องมีความสัมพันธ์ เราทำร้ายกันโดยไม่ต้องรู้สึก บางทีพาโซลินี่อาจคิดว่านี่คือเผด็จการที่เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเสียใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยก็เป็นได้

ถ้าจะมีจิตสำนึกใดหลงเหลืออยู่ในหนัง ก็คงเป็นที่หนึ่งในหญิงวัยกลางคน ที่ตลอดทั้งเรื่องไม่เคยเอ่ยปากใดๆ นอกจากบรรเลงเปียโนไปอย่างเลื่อนลอย ครั้งหนึ่งเธอออกมาร้องเพลงและจบลงด้วยเสียงหัวเราะเย้ยหยันที่ไม่มีใครเข้าใจ หลังจากนั้นเธอก็เงียบไปตลอดเรื่อง จนถึงตอนท้ายในระหว่างพิธีกรรมนั้น เธอนั่งบรรเลงเปียโนอยู่เดียวดาย ก่อนจะตัดสินใจฆ่าตัวตายอย่างว้าเหว่

ผมต้องขอสารภาพว่า กระทั่งตอนนี้ผมก็คิดว่าผมยังเข้าไม่ถึงหัวใจของความรุนแรง …สำหรับผม ความรุนแรงอย่างที่สุดอยู่ในโทรทัศน์ ส่วนในหนังของผม ความรุนแรงเป็นแค่กระบวนการอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ความจริง

อย่างไรก็ดี การรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังถือเป็นประสบการณ์ที่แสนจะเลวร้าย ไม่ใช่เพราะความล้มเหลวของหนัง แต่เป็นเพราะ Salò ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในสิ่งที่พาโซลินี่ต้องการ คือการนำฝันร้ายมาสู่คนดูทุกคน!!

“…หากปราศจากความตายแล้ว ชีวิตก็ไร้ความหมาย”

 

 
 
หน้าก่อน
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | หน้าต่อไป