ชัยชนะของศิลปะและศรัทธา

 




















<<< | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | >>>

Andrei Rublev (Andrei Rublyov, 1969) แสดงให้เห็นว่าทาร์คอฟสกี้พัฒนาไปไกลอย่างยิ่ง หนังดัดแปลงอย่างคร่าวๆจากชีวิตของ อังเดรย์ รูบลิยอฟ (หรือ รูบลอฟ) จิตรกรเอกในยุคกลาง (Middle Ages) ที่เกิดประมาณปี 1360-1370 และตายในช่วง 1427-1430

อังเดรย์ รูบลิยอฟ ได้บวชเป็นพระที่วัด Troitse-Sergeyeva (Holy Trinity) ในทศวรรษ 1390 วัดแห่งนี้อยู่ในความดูแลของ Sergius แห่ง Radonezh ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ Dmitri Donskoi เจ้านครมอสโคว์ขณะนั้น

รูบลิยอฟได้รับมอบหมายงานแรกคือไปรับใช้ลูกชายสองคนของ Dmitri ที่ชื่อ Vassily และ Yuri ซึ่งในภายหลังสองพี่น้องนี้ต้องมารบราฆ่าฟันกันเอง ต่อมารูบลิยอฟได้ไปจำวัดที่วัด Andronikov ที่มอสโคว์ในปี 1400 อีก 5 ปีต่อมา เขาได้ร่วมงานกับ Theophanes the Greek จิตรกรชื่อดังในการวาดภาพประดับโบสถ์ที่มอสโคว์

ปี 1408 เขาได้รับงานวาดภาพประดับโบสถ์ที่ Vladimir และในช่วงต้นทศวรรษ 1420 เขากลับไปที่วัด Troitse-Sergeyeva เพื่อวาดภาพ Holy Trinity อันโด่งดัง เป็นการรำลึกถึง Sergius ผู้ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญ

ช่วงชีวิตของอังเดรย์ รูบลิยอฟนั้นเดินเคียงคู่ไปกับประวัติศาสตร์ในยุคกลางของรัสเซีย ในช่วงที่เต็มไปด้วยสงคราม ความรุนแรง ในยุคที่ไร้กฎหมาย มีแต่ความสับสนวุ่นวาย แต่ขณะเดียวกันนี่คือจุดสุดท้ายของยุคมืด ที่ปลายทางของมันคือยุค Renaissance

รัฐในยุคแรกของรัสเซียซึ่งเป็นรัฐคริสเตียนตั้งอยู่ที่เมือง Kiev (หรือ Ukraine ในปัจจุบัน) ก่อนที่จะล่มสลายในคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 และย้ายไปที่ Vladimir-Susdal ทางตะวันออกเฉีียงเหนือของมอสโคว์ และต่อมาย้ายไปที่เมือง Novgorod ทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดใต้สวีเดน

ในปี 1223 รัสเซียถูกชาว Tatar (ส่วนหนึ่งของกองทัพมองโกล) ที่นำโดยเจงกิสข่านบุกอย่างไม่ทันตั้งตัว และถูกยึดครองอยู่เป็นเวลาถึง 170 ปี จนในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 Dmitri Donskoi นำทัพเข้าปะทะกับกองทัพ Tatar และได้รับชัยชนะในสงครามที่ Kulikivo อันโด่งดัง (ปี 1370) เป็นจุดประกายแรกของรัสเซียในการต่อต้านกองทัพ Tatar ซึ่งจะยังคงยึดครองรัสเซียไปอีกกว่า 200 ปี

ทาร์คอฟสกี้ตั้งใจจะเปิดหนัง Andrei Rublev ด้วยฉากสงครามที่ Kulikivo แต่จำเป็นต้องตัดออกไปเพื่อลดงบประมาณของหนัง

Andrei Rublev จึงเริ่มต้นด้วยฉากทดลองบินของบอลลูน เป็นเหมือนการท้าทายต่อแรงโน้มถ่วงของโลก เป็นประดิษฐกรรมจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่นำเขาไปสัมผัสความงามของธรรมชาติจากเบื้องบน เหมือนสายตาของพระเจ้า แม้สุดท้ายมนุษย์จะพบกับความพ่ายแพ้ แต่ก็ยังคงจะท้าทายต่อโลกและพระเจ้าต่อไป

หนังเริ่มเล่าเรื่องเมื่อ รูบลิยอฟ เดินทางออกจากวัด Troitse-Sergeyeva พร้อมกับพระอีก 2 รูป คือ Daniil และ Kirill เพื่อหางานทำในมอสโคว์ เดินทางผ่านรัสเซียในยุคกลางที่โหดร้ายและอันตราย ได้พบคนมากมาย ได้ร่วมงานกับจิตรกรเอกของยุค พบกับความโหดร้ายของ Vassily ที่ทำให้เขาสิ้นแรงบันดาลใจในการวาดภาพ ผจญกับกองทัพชาว Tatar ที่บุกเมือง Vladimir การทรยศของ Yuri รวมทั้งได้ฆ่าคนคนหนึ่งด้วยมือของเขาเอง สิ้นหวังกับมนุษยชาติและรัสเซีย ทรมานกับการชดใช้บาป และกลับมาจบเมื่อเขาเดินทางกลับมาที่วัดนี้อีกครั้งเพื่อวาดภาพ Holy Trinity อันโด่งดัง ทาร์คอฟสกี้เลือกที่จะเสนอภาพของ อังเดรย์ รูบลิยอฟ ในฐานะผู้สังเกตการณ์มากกว่าในฐานะผู้ดำเนินเรื่อง

ระหว่างทาง รูบลิยอฟได้พบว่าตัวเองสิ้นหวังต่อทั้งชีวิต ศิลปะและศรัทธา ก่อนที่จะพบผู้ที่มาจุดไฟให้เขาอีกครั้ง... เมื่อเขาได้เจอกับเหตุการณ์การสร้างระฆัง ซึ่งช่างทำระฆังได้เสียชีวิตไป ลูกชายของเขา Boriska (Nikolai Burlyaev จากบทอีวาน) อ้างว่าพ่อได้บอกความลับในการสร้างระฆังแก่เขาคนเดียว เขาจึงได้งานนี้ไป แต่ก็มีชีวิตเป็นเดิมพัน ท่ามกลางความสับสนและรอคอยของทุกคน ความตื่นเต้นและหวาดหวั่นของ Boriska รวมถึงความหวังของรูบลิยอฟ ระฆังถูกยกขึ้นและเตรียมจะถูกตีลองเสียง ต่อหน้า Vassily เจ้านครมอสโคว์ ...

ทาร์คอฟสกี้เลือก Anatoly Solonitsyn นักแสดงไร้ชื่อในชนบทสำหรับบทนำ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของผู้ร่วมงาน แต่เขาก็ยืนกรานเช่นนั้น หลังจากที่เขาได้นำรูปนักแสดงทั้งหมดที่มาทดสอบหน้ากล้อง ไปให้นักบูรณปฏิสังขรณ์ศิลปะรัสเซียในยุคกลางดู แล้วถามว่าใครคือ อังเดรย์ รูบลิยอฟ ทุกคนชี้ไปที่รูป Anatoly Solonitsyn

ทาร์คอฟสกี้กล่าวถึงหนัง Andrei Rublev ว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าทางศีลธรรมที่เกิดจากกาีรเล่าเรียน และคุณค่าทางศีลธรรมที่เกิดจากการรับรู้ด้วยหัวใจ (หรือด้วยการปฏิบัติ)

อังเดรย์ที่ถูกอบรมด้วยธรรมะจาก Sergius เมื่อต้องออกจากวัดไปเผชิญโลก เขาตื่นตระหนกเมื่อต้องพบกับความเป็นจริง สูญเสียศรัทธา ทนทุกข์ทรมาน และสุดท้ายได้พบธรรมอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้จากการสอนสั่งของใคร หากแต่เกิดจากการใช้ชีวิตและประสบการณ์ของตนเอง

“งานศิลปะของ อังเดรย์ รูบลิยอฟ เป็นเหมือนการประท้วงต่อต้านต่อกฎเกณฑ์ต่างๆในยุคนั้น ต่อต้านการหลั่งเลือด การคดโกง การกดขี่ข่มเหง... อังเดรย์ รูบลิยอฟ (รวมถึง Boriska ด้วย) ไม่ได้เป็นพระเอก แต่เป็นหลักและเหตุผลที่แสดงถึงจิตวิญญาณ และพลังทางศีลธรรมของคนรัสเซีย"

“หนังแสดงว่าด้วยเหตุใดความปรารถนาในภราดรภาพ (brotherhood หรือความสมานฉันท์) ของรัสเซียในยุคนั้น ในช่วงเวลาของการเข่นฆ่ากันเองและถูกกดขี่โดยชาว Tartar จึงให้กำเนิดภาพวาด ‘Trinity’ ของรูบลิยอฟ– ซึ่งแสดงถึงภราดรภาพในอุดมคติ ความรัก และความศักดิ์สิทธิ์อันเรียบง่าย”
Sculpting in Time

ในหนังมีตอนหนึ่งหลังจากการบุกของชาว Tatar แล้ว ทหาร Tatar กลุ่มหนึ่งโยนเศษเนื้อให้ฝูงหมารัสเซียหิวโซ ที่รุมแย่งอาหารกัน และกัดกันเองในที่สุด โดยมีชาวรัสเซียยืนมองอยู่ห่างๆ และต่อมารูบลิยอฟได้สนทนากับวิญญาณของ Theophanes เกี่ยวกับความล่มสลายของรัสเซีย ที่แม้ไม่มีกองทัพ Tatar คนรัสเซียก็ฆ่ากันเองอยู่แล้ว

ในหนังเรื่องนี้ ทาร์คอฟสกี้ได้รวมเอาทั้งประวัติศาสตร์ ศรัทธาในศาสนา และศิลปะเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อกองทัพ Tatar บุกเมือง Vladimir ฆ่าฟันผู้คนมากมาย ก็ส่งผลให้รูบลิยอฟสูญสิ้นศรัทธาในพระเจ้า และไม่อาจทำงานศิิลปะได้อีกต่อไป ในตอนท้ายเมื่อเขาได้พบ Boriska เขาได้เรียนรู้ว่าปาฏิหาริย์มีจริง ความทุ่มเทของเด็กหนุ่มในการสร้างงานศิลปะได้เยียวยาจิตวิญญาณของเขา เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานศิลปะอีกครั้ง และภาพ Holy Trinity นั้นก็เป็นเหมือนปฐมบทของยุค Renaissance ที่สงบสุขและเจริญรุ่งเรืองในอนาคต เป็นสัญลักษณ์ถึงการผนวกรวมประเทศของรัสเซียในยุคของ Ivan III (1462-1505) และ Ivan IV (The Terrible) (1533-1584)


 



















Irma Rausch ในบท holy fool

ทาร์คอฟสกี้เรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็น ‘ภาพยนตร์ของผืนแผ่นดิน’ เราอาจขยายความได้ว่าเป็น ‘ภาพยนตร์ของผืนแผ่นดินรัสเซีย’ โดยเฉพาะในฉากที่ Boriska ตามหาดินที่จะนำมาทำระฆัง ซึ่งทาร์คอฟสกี้เน้นมากเป็นพิเศษ โดยระฆังนอกจากจะเป็นตัวแทนของความสงบสุข และคริสต์ศาสนาที่ได้กลับมาเยือนแผ่นดินรัสเซียอีกครั้งแล้ว ระฆังของ Boriska ยังเกิดจากการผสมธาตุในธรรมชาติทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้ง ดิน น้ำ ลม ไฟ และโลหะ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำของทาร์คอฟสกี้ ในหนังเรื่องต่อๆไป

เขาอธิบายไว้ในหนังสือ Sculpting in Time ว่าสำหรับเขาสิ่งที่สำคัญที่สุดของสื่อภาพยนตร์ ก็คือความสามารถในการจับ ‘เวลา’ เอาไว้ได้ เขาชื่นชอบการใช้ long take ปล่อยให้เวลาไหลเอื่อยๆผ่านจอภาพยนตร์ จนออกมาส่งผลกระทบกับคนดู การเคลื่อนกล้องอย่างเชื่องช้าค่อยๆปล่อยให้ตัวละครของเขา เดินกลืนหายเข้าไปในโลกที่เขาสร้างขึ้นอย่างไร้ร่องรอย เหมือนกับมิเกลันเจโล อันโตนิโอนี่ ภาพยนตร์ของทาร์คอฟสกี้คือการจับช่วงเวลานั้นๆของเหล่าตัวละครที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันกาล ตรงกันข้ามกับภาพยนตร์แบบที่ขับเคลื่อนด้วยเนื่อเรื่อง ที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ทาร์คอฟสกี้เคยระบุว่าเขาชอบการถ่ายภาพธรรมชาติที่ให้ความรู้สึกแบบกวีนิพนธ์ของ Aleksandr Dovzhenko ขณะเดียวกันก็มักค่อนขอดหนัง montage ที่ตัดต่ออย่างฉับไวของ Sergei Eisenstein

“ดอฟเชนโกรู้สึกกับธรรมชาติไม่เหมือนใคร เขาเชื่อมติดกับผืนแผ่นดินจริงๆ... เขาเป็นผู้กำกับคนเดียวที่ไม่ได้ฉีกทึ้งภาพของหนังไปจากบรรยากาศ จากผืนดินนี้ จากชีวิตนี้ - สำหรับผู้กำกับอื่น ทั้งหมดนี้เป็นเพียงฉากหลังแข็งทื่อ – แต่สำหรับดอฟเชนโก มันคือธาตุ (ของธรรมชาติ) บางทีเขาอาจรู้สึกเชื่อมโยงภายในกับชีวิตของธรรมชาติ”

“ไอเซนสไตน์เป็นหนึ่งในไม่กี่คน บางทีอาจจะเป็นเพียงคนเดียวด้วยซ้ำ ที่เข้าใจเรื่องของประเพณีหรือมรดกทางวัฒนธรรม แต่เขาไม่ได้ซึมซับมันด้วยหัวใจของเขา เขาทำให้มันกลายเป็นงานแบบปัญญาชน (over-intellectualized ) เขาเป็นพวกที่นับถือเหตุผล เย็นชา ถูกคำนวณมาแล้ว กำกับด้วยเหตุผล เขาสร้างมันขึ้นมาบนกระดาษก่อน เหมือนเครื่องคิดเลข เขาวาดทุกอย่าง... ชีวิตไม่ได้มีอิทธิพลใดๆกับเขา สิ่งที่มีอิทธิพลกับเขาคือความคิดที่เขาสร้างขึ้น เปลี่ยนสภาพไปสู่รูปแบบหนึ่งที่ไร้ชีวิต แข็งเหมือนเหล็ก แห้งแล้ง ปราศจากความรู้สึกใดๆ... นี่คือรูปแบบ(ของศิลปะชนิดใหม่)ที่เรียกว่าภาพยนตร์สังเคราะห์ (synthetic cinema ) ซึ่งเป็นการสังวาสกันของศิลปะวาดเขียน จิตรกรรม ละคร ดนตรี และทุกๆอย่าง – ยกเว้นภาพยนตร์ที่ไม่ได้อยู่ในนั้น”
Z Andriejem Tarkowskim rozmawiają , Jerzy Illg, Leonard Neuger

กระนั้น Mark Le Fanu (The Cinema of Andrei Tarkovsky) ก็พยายามชี้ให้เห็นว่าทาร์คอฟสกี้ได้รับอิทธิพลจาก Ivan the Terrible ทั้งสองภาค (1944/1958) ของไอเซนสไตน์หลายอย่างที่เขานำมาใช้ใน Andrei Rublev นอกจากนี้ทาร์คอฟสกี้ยังไม่ปิดบังว่า เขาได้รับอิทธิพลในการจัดองค์ประกอบของภาพจากหนังญี่ปุ่น โดยเฉพาะ Seven Samurai (1954) ของอากิระ คุโรซาว่า

ส่วน ‘แอปเปิ้ล’ และ ‘ม้า’ จากหนังสองเรื่องแรกนี้ก็ได้รับอิทธิพลโดยตรงจาก ‘ลูกแพร์’ และ ‘ม้า’ ในหนัง Zemlya (Earth, 1930) ของดอฟเชนโก้ ก่อนที่ในภายหลังเมื่อทาร์คอฟสกี้ทำหนังแบบส่วนตัวมากขึ้น คือนับจาก Mirror เป็นต้นไป เขาเลือกใช้ ‘นม’ และ ‘สุนัข’ มาแทนในโลกที่เขาสร้างขึ้นเอง

ทาร์คอฟสกี้แบ่งหนัง Andrei Rublev ออกเป็น 8 ตอน และมีบทนำกับบทส่งท้ายต่างหาก เป็นรูปแบบเหมือนนวนิยาย แต่เป็นนิยายประวัติศาสตร์ที่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพียงเล็กน้อย และเล่าเรื่องโดยไม่ปะติดปะต่อกัน

“รายละเอียดทางประวัติศาสตร์ไม่ควรทำให้ความสนใจของคนดูไขว้เขว ควรมีแค่เพียงเพื่อแสดงว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตามท้องเรื่อง การตกแต่งภายในแบบกลางๆ เครื่องแต่งกายแบบทั่วไป ภูมิทัศน์ และภาษาสมัยใหม่ – เหล่านี้ก็เพื่อปล่อยให้เราได้พูดเฉพาะประเด็นที่สำคัญที่สุดเท่านั้น

หนังประกอบด้วยตอนย่อยหลายตอน โดยไม่ต่อเนื่องกันอย่างสมบูรณ์ แต่มันเชื่อมต่อกันภายในผ่านขบวนความคิด... เราต้องการให้แต่ละตอนเหล่านั้น ยึดมั่นกับกระบวนการวิวัฒนาการของบุคลิกภาพ (ในแต่ละช่วง) ของรูบลิยอฟ ระหว่างการกำเนิดของความคิดที่นำไปสู่ภาพ Trinity ขณะเดียวกันเราก็ต้องการหลีกเลี่ยงการเล่าเรื่องแบบทั่วไป เพราะมันเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เราสามารถแสดงองค์รวมและความซับซ้อนของชีวิตได้

ภาพยนตร์เกี่ยวกับศิลปิน มักถูกสร้างขึ้นมาประมาณนี้ : พระเอกของเราได้พบเหตุการณ์บางอย่าง คนดูได้เห็นเขาครุ่นคิดไตร่ตรอง สุดท้ายเขาแสดงความคิดของเขาออกมาในงานศิลปะ – ในหนังของเรา เราจะไม่ได้เห็นภาพของรูบลิยอฟที่กำลังวาดภาพ เขาเพียงแต่ใช้ชีวิตของเขา เขาไม่ได้ปรากฏตัวครบทุกตอนด้วยซ้ำไป…”
Begegnung mit Andrej Tarkowskij with Gideon Bachman in Filmkritik 1962

ทาร์คอฟสกี้จบหนังเรื่องนี้ด้วยการจับรายละเอียดของภาพ Holy Trinity ของรูบลิยอฟเป็นภาพสี

“ ...ความเกี่ยวพันของฉากจบที่เป็นภาพสี และส่วนเนื้อเรื่องที่เป็นภาพขาวดำ เป็นวิธีที่เราใช้แสดงความเชื่อมโยงกันของงานศิลปะของรูบลิยอฟ และชีวิตของเขา (จิตรกรรมกับโลกความจริง)... มันเป็นไปได้ยากที่จะแสดงความงดงามของภาพวาดนี้ได้ในเวลาอันสั้น ดังนั้นเราจึงพยายามแสดงรายละเอียดของภาพ และนำทางคนดูไปสู่รายละเอียดต่างๆของงานสร้างสรรค์ชิ้นเยี่ยมของรูบลิยอฟ จนไปถึงภาพเต็มของ Trinity อันโด่งดัง เราต้องการพาคนดูไปสู่งานชิ้นนี้โดยผ่านการเร้าอารมณ์ของสีสัน... (และด้วยความยาวกว่า 8 นาทีในฉากนี้) น่าจะเพียงพอที่จะทำให้คนดูได้พัก เราไม่ต้องการปล่อยคนดูออกจากโรงไปทันทีพร้อมกับฉากจบที่เป็นภาพขาวดำ เขาควรมีเวลาที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากชีวิตของรูบลิยอฟ และสะท้อน (ความคิดของตัวเอง) ออกมา เราหมายความว่า ด้วยการจ้องมองภาพสีและฟังเสียงดนตรีประกอบคลอ (ในระยะเวลาหนึ่ง) ผู้ชมสามารถเลือกบทสรุปหลากหลายตามความเข้าใจของตัวเองต่อหนังทั้งเรื่องได้”

ภาพสุดท้ายของ Andrei Rublev คือภาพกลุ่มม้ากลางสายฝน

“… มันเป็นสัญลักษณ์ถึงชีวิต เมื่อผมเห็นม้าผมมักเกิดความรู้สึกราวกับได้สัมผัสแก่นแท้ของชีวิต เพราะม้าเป็นสัตว์ที่สง่างาม เป็นมิตรกับมนุษย์ และยังเป็นส่วนสำคัญในภูมิทัศน์ของรัสเซีย... การมีอยู่ของม้าในฉากสุดท้ายนี้ คือการแสดงว่าชีวิตคือแหล่งกำเนิดของงานศิลปะทั้งหมดของรูบลิยอฟ”
L'artiste dans l'ancienne Russe et dans l'URSS nouvelle with Michel Ciment and Luda & Jean Schnitzer in Positif Oct. 1969

ปี 1962 เริ่มมีลางร้ายแก่วงการภาพยนตร์รัสเซีย เมื่อนิกิต้า ครุชเชฟ (Nikita Khrushchev) กล่าวว่า อุตสาหกรรมภาพยนต์ควรระลึกอยู่เสมอว่า “ภาพยนตร์คืออาวุธทางอุดมคติที่มีประสิทธิภาพ และเป็นสื่อเพื่อการศึกษาอันสำคัญ” และในปี 1964 ลีโอนิด เบรสเนฟ (Leonid Brezhnev) ขึ้นสู่อำนาจต่อจากครุชเชฟ การเมืองของรัสเซียก็กลับสู่ยุคอนุรักษ์นิยมอีกครั้ง

Andrei Rublev ตัดต่อเสร็จในปี 1966 โดยใช้ชื่อในตอนนั้นว่า The Passion According to Andrei มีความยาว 3 ชั่วโมง 20 นาที แต่ต่อมาถูกตัดต่อใหม่หลายครั้งและถูกชะลอการฉายออกไปจนถึงปี 1971 หนังถูกตั้งข้อหามากมาย ทั้งรุนแรงเกินไป ยาวเกินไป ไม่เป็นชาตินิยมพอ ไม่เป็นสังคมนิยม ไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ และดูเป็นอิสระมากเกินไป เมื่อเทียบกับหนังในยุคเดียวกัน ที่ส่วนใหญ่เป็นงานแบบสัจนิยม (realism)

ปี 1967 เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เชิญ Andrei Rublev ไปฉายที่นั่น แต่ทางการโซเวียตตอบกลับไปว่าหนังยังตัดต่อไม่เสร็จ และส่ง War and Peace หนังมหากาพย์ของ Sergei Bondarchuk ไปแทน ก่อนหน้านั้นทาร์คอฟสกี้เคยบ่นทางการมาแล้วในกรณีที่อนุมัติงบให้ Andrei Rublev เพียง 1 ล้านรูเบิ้ล แต่ War and Peace ได้ไปถึง 8 ล้าน เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นอีก ทำให้เขาแสดงความไม่ชอบ Bondarchuk จนออกนอกหน้า

ปี 1969 คานส์ทำเรื่องเชิญ Andrei Rublev ไปอีกครั้ง คราวนี้หนังได้รับอนุญาตให้ฉาย แต่ต้องอยู่นอกสายประกวด และอย่างไม่เป็นทางการ Andrei Rublev ได้รับรางวัล International Critics’ Prize ไปจากเวทีนี้ แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้ฉายในเทศกาลหนังมอสโคว์ และยังต้องรออีกถึง 2 ปี จึงได้ฉายตามปกติในโซเวียต โดยไม่มีโปสเตอร์โฆษณาแม้สักใบ

มีคนตีความว่า Andrei Rublev ที่แสดงถึงการอยู่รอดของศิลปะในช่วงประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยการทำลายและปล้นสะดมนั้น อาจเป็นนิทานเปรียบเทียบถึงชะตากรรมของเหล่าศิลปินภายใต้ระบอบโซเวียตขณะนั้น

Maya Turovskaya นักวิจารณ์หนังรัสเซียที่สนิทกับทาร์คอฟสกี้ ระบุว่า ช่วงเวลา 5 ปีที่ทาร์คอฟสกี้ต้องต่อสู้เพื่อที่จะนำ Andrei Rublev ออกฉายนั้นได้เปลี่ยนชีวิตและการทำงานของเขาไปตลอดกาล เขากลายเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้น มั่นใจในความคิดของตัวเองมากขึ้น และไม่ประนีประนอมต่อศิลปะอีกต่อไป

ระหว่างถ่ายทำ Andrei Rublev ทาร์คอฟสกี้เลิกกับ Irma Rausch (หรือ Irina Tarkovskaya ซึ่งเป็นชื่อหลังแต่งงาน - เธอร่วมแสดงใน Andrei Rublev ด้วย ก่อนหน้านี้เธอเล่นเป็นแม่ของอีวานใน Ivan's Childhood) หลังพบรักกับผู้ช่วยชื่อ Larissa Pavlovna Yegorkina ขณะที่ภรรยาคนแรกเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง เป็นอิสระ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามลำพัง รวมทั้งมีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับแม่ของเขาอย่างมาก ภรรยาคนที่สองของเขากลับตรงกันข้ามคือเป็นคนที่คอยเอาใจใส่ดูแลทาร์คอฟสกี้ตลอดเวลาไม่ห่างกาย เขาแต่งงานกับเธอในปี 1970 และคลอดลูกชายในปีเดียวกันชื่อ ‘อังเดรย์’

ดูเหมือนทาร์คอฟสกี้กำลังย้อนรอยสิ่งที่พ่อของเขาเคยทำ ด้วยการทิ้งครอบครัวของภรรยาคนแรกไปหาผู้หญิงคนใหม่ และกลับไปเยี่ยมลูกชายคนโตของเขา ‘อาร์เซนี’ เป็นครั้งคราว

 
 


 
     
 
<<< | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | >>>