เคียด (Silence Will Speak)

2549 / 2006
ความยาว 105 นาที ; DV

เขียนบท/กำกับ/ถ่ายภาพ/ตัดต่อ : พัลลภ ฮอหรินทร์
แสดง :
สิริพัธน์ ปราชญ์นิวัธน์ (Siripat Pratniwat), ณัฏฐวุฒิ กิจนพ (Nuttawoot Kijnop),
นิรินธน์ รักเกียรติ (Nirin Ruggiat), ธนรรจิต สีหาบุตร ( Thanunjit Srihabuth),
ธมวุฒิ ทิพรัตน์ (Thamawut Tipparat), นิรัญชนา เกษมสุข (Niranchana Kasemsook),
ฤทธา กฤษณวรรณ (Ritha Krisanawan), กัญญารัตน์ ศรีคุณลา (Kanyarat Srikunla),
เอกพล หิรัญพันธุ์ (Ekapon Hirunphan), จันทิมา รักมั่นเจริญ (Chantima Rakmunchareon),
ฉลอง ภัคดีพงศ์ (Chalong Pakdeepong), ปิยะ พรปัทมภิญโญ (Piya Pornpattamapinyo)
ผู้ช่วยผู้กำกับ : สุภัคชัย สีหาบุตร (Supakchai Srihabuth)

เพลงประกอบ : 'รักคุณเท่าฟ้า' ยืนยง โอภากุล/เทียรี่ เมฆวัฒนา
เรียบเรียงใหม่ : อัครวัฒน์ ยัสพันธุ์ (Ackrawat Yaspan)
ร้องนำ : ประกาย วรนิสรา (Prakai Voranisa)
ฉายครั้งแรก :
World Film Festival of Bangkok 2006


         
   
เอ่อ ผมพูดอะไรมากคงไม่ได้ครับ
เพราะยอมรับว่าหนังใช้วิธีที่สุดขั้วจนเกินกว่าความสามารถ ในการทำความเข้าใจของผมจะปะติดปะต่อได้ ยังดีที่ผู้กำกับมาคุยด้วยหลังหนังเลิก ทำให้พอจะมีไอเดียอะไรขึ้นมานิดนึง ไม่งั้นคงกลับบ้านอย่างงงๆว่าที่ดูไปทั้งหมดนั่นคืออะไรน่ะ สรุปได้ว่า ผู้กำกับคิดและนำเสนอออกมาได้กว้างไกลดีครับ แต่ผมไปไม่ถึง แต่อย่างน้อยก็ดีใจว่าได้เห็นหนังไทยเรื่องยาวที่กล้าๆแบบนี้ออกมา คงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับวงการหนังไทยไม่มากก็น้อย
- Dr. Syntax


   
           
     
สารภาพว่าช่วงต้น ๆ มึนงง พยายามจะจูนคลื่นตัวเองให้ตรงกับวิธีการสื่อสาร จนมาตื่นตาตื่นใจ และกระแทกกระทั้นอย่างรุนแรง ทั้งด้วยวิธีการตัดต่อ
และภาพ โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์ที่ทหารเข้าต่อสู่ ยิงปืนขุ่ขึ้นฟ้า โยนไฟไปเผารถหรืออะไรก็แล้วแต่ แทบร้องไห้ เป็นหนังที่พูดน้อย
แต่เล่นเอาเกือบน็อคสลบเลยทีเดียว
- x6jo

   
           
     
เป็นหนังที่รับรู้ได้ถึงความพิเศษ และดีเด่น สร้างสรรค์ แต่ไม่กระทบความรู้สึกส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะแนะนำใครสักคนในการทำความรู้จักหนังนอกกระแสที่ท้าทาย และน่าสนใจ นี่คงเป็นเรื่องแรกๆ ที่อยากแนะนำ โดยส่วนตัวอึดอัด อยู่นิดหน่อยกับอาการ “ประเด็นล้น” ของหนัง รู้สึกว่าหาก ผกก. “เลือก” และ “ลดทอน” บางส่วนของหนังลง อาจจะกระทบใจตัวเองมากขึ้น

เรื่องราวส่วนหนึ่งของหนังที่ผมชอบมาก คือ ชายหนุ่มนั่งพับนกกระดาษอยู่ในรถ มันเสียดสี และเหนือจริงดี ชนชั้นกลาง (หากเราจะตีความว่า ชายหนุ่มคนขับรถส่วนบุคคล คนนี้ถูกใช้เป็นตัวแทน) เรียกร้องหา “สันติภาพ” (นกกระเรียนกระดาษ) ในห้องแอร์ (ห้องเครื่องรถยนตร์) ขณะที่กลไกทุกอย่างในสังคม มันติดล็อคไปหมด (รถติดไฟแดง เคลื่อนตัวช้าสุดๆ) เขาทำได้แต่ร้องหามันต่อไป (ปริมาณนกกระดาษที่เพิ่มขึ้นทับทวี) จนสุดท้ายเมื่อสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายไปเรียบร้อย (ขับรถออกนอกเมืองได้สำเร็จ) สิ่งที่เขาพบก็คือเสียงร่ำร้องของเขา นอกจากมันจะไม่ได้มีส่วน ให้เหตุการณ์อะไรดีขึ้นแล้ว มันยังล้นเกิน และไม่ต่างอะไรกับขยะ (เปิดประตูรถแล้วนกกระดาษล้นทะลักออกมา เกลื่อนพื้นถนน)

น่าเสียดายที่ส่วนนี้ของหนังดูโดดออกมาจากส่วนอื่นๆที่ ผกก.ใช้แนวทางของหนังสารคดี ที่วิ่งเข้าหาความจริง อีกจุดที่ไม่รู้ว่าจะเป็นดาบสองคมหรือเปล่า ก็คือ การโค้ดข้อความทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ มาแปะสลับ มันเป็นกระจกสะท้อน ไปหาประเด็นของหนังได้ดี แต่อีกมุมหนึ่งมันทำให้คนดูส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้เข้าใจทฤษฎีที่ว่ามากนัก ต้องนั่งจับประเด็น ตีความแล้วเอามาเชื่อมโยงกับหนังอีกที ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเกินไปนิดๆ ไม่มีส่วนนี้ หนังคงไม่ได้แย่ลง หรือคลุมเครือมากขึ้น

ดูหนังจบแล้ว เดินออกไปเข้าห้องน้ำ แล้วรีบกินกาแฟกับขนมปังรองท้อง สำหรับการดูหนังเรื่องที่สาม เลยไม่ได้ฟัง Q&A กลับเข้ามาอีกทีก็ช่วงท้ายๆ ได้ยินแต่ว่า ผกก.อยากเอาทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ มาใช้รองรับประเด็นทางการเมือง ผกก.บอกว่า แม้ตัวเขาจะเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ แต่เขายอมรับว่า วิทยาศาสตร์อธิบายได้เพียง “ความจริงสมมุติ” ขณะที่เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน เป็นเรื่องจริง และไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมดด้วยวิทยาศาสตร์ ฟังแล้วรู้สึกชื่นชมในความช่างคิด และพยายามพลิกแพลงนั่นนี่เพื่อนำมาใช้ในหนัง ของ ผกก. มากขึ้น
- frankenstein

   
           
     
สาเหตุที่ดิฉันชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ก็มีเพียงแค่ว่าดิฉันรู้สึกมีความสุขมากๆ ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้เท่านั้นเอง หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยฉากหลายฉาก ที่ดิฉันดูแล้วไม่เข้าใจว่ามันหมายความว่าอะไร ตั้งแต่ฉากบนรถเมล์, ฉากชายหนุ่มถ่ายภาพกรุงเทพในปัจจุบัน ที่ตัดสลับกับภาพถ่ายในอดีต, ฉากชายหนุ่มนั่งพับนกขณะรถติด ก่อนจะไปถึงทะเล, ฉากการขโมยกระเป๋าถือของผู้หญิง, ฉากชายหนุ่มพบกับ เหตุการณ์ไฟดับจนต้องจุดเทียน,เสียงเพลงชาติ, ฉากการไปเลือกตั้ง, ฉากบนรถไฟฟ้า เรื่อยมาจนถึงภาพจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ, เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเมื่อต้นปีนี้,คปค. และจบลงด้วยภาพหญิงสาวทำหน้าตาแปลกๆ ขณะที่ตัวเลขสัญญาณไฟจราจรกำลังถอยหลังไปเรื่อยๆ และดูเหมือนตัวเลขจะหยุดอยู่ที่ “19”

ตอนที่เข้าไปดูหนังเรื่องนี้ ไม่ได้อ่านเรื่องย่อของหนังมาก่อน แต่ที่ตัดสินใจเลือกดูเป็นเพราะว่าชอบ EVERYTHING WILL FLOW (2000, PUNLOP HORHARIN, A+) และ A HALF-LIFE OF CARBON 14 (2005, PUNLOP HORHARIN, A+) อย่างมากๆ และพอไปดูแล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ SILENCE WILL SPEAK เป็นหนังที่ไปไกลกว่า EVERYTHING WILL FLOW ที่ยังพอมีเนื้อเรื่องให้จับต้องได้ แต่ถึงแม้ EVERYTHING WILL FLOW มีเนื้อเรื่อง ดิฉันกลับรู้สึกว่า EVERYTHING WILL FLOW ดูแล้วชวนง่วงนอนเล็กน้อยในช่วงท้ายเรื่อง ในขณะที่ SILENCE WILL SPEAK ดูแล้วไม่รู้สึกง่วงนอนเลย แต่รู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลาโดยไม่รู้ว่าเพราะอะไร

หลังดู SILENCE WILL SPEAK จบ ดิฉันก็รีบแจ้นไปดูหนังอีกโรงนึงต่อ ก็เลยไม่ได้ฟังคุณพัลลภพูด ตอนหลังเพื่อนบอกว่าคุณพัลลภ ดูเหมือนจะพูดว่า SILENCE WILL SPEAK เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดิฉันก็เลยรู้สึกทึ่งกับหนังเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เพราะในขณะที่ดูหนังเรื่องนี้นั้น ดิฉันแทบไม่ได้ “ตีความ” หลายๆฉากที่เห็นในหนังเลยแม้แต่นิดเดียว ฉากหลายๆฉากในหนังที่เป็นกิจวัตรของผู้คน ในเมืองใหญ่นั้น ดิฉันดูแล้วรู้สึกเพลิดเพลินไปกับมันอย่างมากๆ แต่ไม่ทันได้ฉุกคิดเลยแม้แต่น้อยว่า ฉากเหล่านั้น มีความหมายทางการเมืองอย่างใด ซ่อนอยู่บ้าง ขณะที่ดูหนังเรื่องนี้ ดิฉันก็พอจะเดาออกว่าหนังคงมีประเด็นการเมืองซ่อนอยู่บ้าง โดยดูจากฉากที่พูดถึงการเมืองอย่างตรงๆอย่างเช่น ฉากการไปเลือกตั้ง, เสียงเพลงชาติ, ฉากพฤษภาทมิฬ และฉากการชุมนุมประท้วงในช่วงต้นปีนี้ แต่ดิฉันไม่ได้คิดจะโยงฉากกิจวัตรประจำวัน
ในหนังเข้ากับประเด็นการเมืองแต่อย่างใดในขณะที่นั่งดู

การที่ได้รู้ในภายหลังว่า SILENCE WILL SPEAK มีคุณค่ามากกว่า “ความเพลิดเพลินในการนั่งดูชีวิตคนกรุงเทพ” ทำให้ดิฉันรู้สึก อยากดูหนังเรื่องนี้ในรอบสองมากยิ่งขึ้น และอาจจะทำให้ความรู้สึกชอบ หนังเรื่องนี้พุ่งสูงขึ้นไปอีก

ฉากพฤษภาทมิฬในหนังเรื่องนี้เป็นฉากที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็น CLIMAX ของเรื่อง มันเป็นฉากที่ให้ความรู้สึกรุนแรงอย่างมากๆ โดยเฉพาะ เมื่อได้มาดูหนังเรื่องนี้ในเดือนต.ค.ปีนี้

ถ้าหากตัดสินคุณค่าของ SILENCE WILL SPEAK ในแง่ของ “ความสัมฤทธิ์ผลทางการสื่อ “สาร” ต่อตัวดิฉัน” หนังเรื่องนี้ก็อาจจะสอบตก เพราะดิฉันไม่ได้สำเหนียกถึงประเด็นการเมือง ในฉากกิจวัตรประจำวัน ในหนังเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย ดิฉันอาจจะได้รับ “สาร” เพียง 5-10 % ของสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อ

แต่ดิฉันไม่ได้ดูหนังเพราะต้องการรับ “สาร” เพียงอย่างเดียว ดิฉันดูหนังเพราะต้องการ “ความสุข”, “ความเพลิดเพลิน” และ “ความบันเทิง” และ SILENCE WILL SPEAK ก็ให้ความสุขและความเพลิดเพลิน ทางอารมณ์แก่ดิฉันอย่างสุดๆ อย่างที่หนังไทยเรื่องอื่นๆในปีนี้ทำไม่ได้ “ความเพลิดเพลินอย่างสุดๆในฉากกิจวัตรประจำวัน” และ “อารมณ์ที่พุ่งขึ้นถึงขีดสุด” ในฉากพฤษภาทมิฬในหนังเรื่องนี้คือสิ่งที่ทำให้ SILENCE WILL SPEAK คงจะเป็นหนึ่งในสิบหนังไทยที่ดิฉันชอบที่สุดในปีนี้

SILENCE WILL SPEAK ทำให้ดิฉันรู้สึกทึ่งกับคุณพัลลภอย่างมากๆ เพราะเขาสามารถทำหนังเรื่องนี้ ให้ตอบสนองผู้ชมได้ทั้งกลุ่มที่ชื่นชอบ การตีความ ซึ่งน่าจะเข้าใจ “สาร” หลายๆอย่างในหนังของเขา และสามารถตอบสนองผู้ชมกลุ่มที่ไม่ชื่นชอบการตีความ อย่างเช่น ดิฉัน ซึ่งไม่เข้าใจ สารในฉากประมาณ 90 % ของหนัง แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองได้รับ “ความเพลิดเพลินอย่างสุดๆ” จากการนั่งดูฉากเหล่านั้น

หนังเรื่อง SILENCE WILL SPEAK ทำให้ดิฉันนึกถึงหนังเรื่องอื่นๆอีกหลายๆเรื่อง ที่อาจจะเต็มไปด้วยสัญลักษณ์และความหมาย แต่ถึงคุณดูแล้วไม่เข้าใจสัญลักษณ์ในหนัง เลยแม้แต่นิดเดียว คุณก็ยังรู้สึกทึ่ง, เพลิดเพลิน และตะลึงลานไปกับภาพที่ได้เห็น และเสียงที่ได้ยิน และได้รับ “ความสุข” อย่างมากๆจากการดูหนังเรื่องนั้น ถึงแม้ไม่ได้รับ “สาร” ใดๆจากหนังเรื่องนั้น

การดูหนังแบบนี้บางทีก็ทำให้ดิฉันนึกถึงความสุขที่ได้รับจากการฟังเพลงญี่ปุ่น ที่ดิฉัน “ไม่เข้าใจ” ความหมายของเพลง แต่ก็ได้รับความเพลิดเพลิน อย่างมากๆจากการฟังเพลงนั้น หรือบางทีถ้าหากจะเปรียบเทียบอย่างหยาบๆ ก็อาจจะเปรียบเทียบได้ว่า ผู้สร้างหนังเรื่องนั้นมอบ “ตัวต่อเลโก้” ให้ผู้ชม และผู้ชมที่ชอบ “ใช้ความคิด” ก็จะสามารถนำตัวต่อเลโก้เหล่านั้น มาต่อเป็นฐานทัพเรือ ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวตามที่ผู้สร้างหนังต้องการ แต่ผู้ชมที่ “ไม่ชอบใช้ความคิด” อย่างดิฉัน กลับรู้สึกเพลิดเพลินมากๆ ที่ได้นั่งพิจารณาสีสันและรูปร่างของตัวต่อเลโก้แต่ละชิ้น และเอาตัวต่อเลโก้ เหล่านั้นมานั่งต่อเป็นโอ่งมังกรหรือชักโครกหรืออะไรบ้าๆบอๆ โดยไม่รู้เลยว่าจริงๆแล้วเขาให้เอามาต่อเป็นฐานทัพเรือ แต่ก็มีความสุขมากๆที่ได้นั่งเล่น กับตัวต่อเลโก้เหล่านั้น (หรือนั่งดูฉากแต่ละฉากในหนังเรื่องนั้น)
- M.Scudery

   
           
     
หนังยาวทำเองเรื่องนี้ เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ WORLD FILM FESTIVAL และสร้างปรากฏการณ์คนเดินออกมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องด้วยหนังไม่มีเรื่องเล่า เป็นเพียงฉากเหตุการณ์ไม่ปะติดปะต่อ ของสังคมกรุงเทพ ปราศจากดนตรีประกอบและการเร้าอารมณ์ หากหนังกลับอัดแน่นด้วยพลัง เมื่อหนังตัดต่อฟุตเตจเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬเข้ากับภาพร่างชีวิตคนเมือง และเมื่อมองโดยรวมนี่อาจเป็นหนังเรื่องแรกที่ประมวลเหตุการณ์ทางการเมือง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงยุคปัจจุบัน อย่างกล้าหาญ โดยซ่อนเร้นไว้ในเหตุการณ์ไม่ปะติดปะต่ออย่างชาญฉลาด ให้ –ความเงียบ- ได้ –พูด- อย่างแท้จริง บางที นี่อาจเป็นหนังเรื่องแรก ที่เราพอจะเรียกว่าหนังการเมืองได้อย่างเต็มปากในประเทศเรา!
- FILMSICK